สื่อและชองเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย
สื่อและของเล่น
จัดเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง สภาพแวดล้อมหนึ่ง
ที่มีผลต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก สื่อและของเล่นแต่ละประเภท
มีส่วนในการพัฒนาเด็กแตกต่างกันไป การเลือกใช้และผลิต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่
ผู้ปกครอง รวมทั้งครู จะมีบทบาทในการพิจารณาให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก
และตรงตามวัตถุประสงค์
โดยเฉพาะการนำสื่อและของเล่นมาใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น
การผลิตสื่อและของเล่น สำหรับเด็กปฐมวัย จึงควรคำนึงถึงหลักการผลิต
การเลือกใช้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้สามารถส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้านต่างๆ
ได้อย่างครบถ้วน
หลักการเลือกสื่อและของเล่น
แนวทางในการเลือกสื่อและของเล่นโดยทั่วไป
ควรมีหลักเกณฑ์การเลือกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กหรือผู้เรียนดังนี้
1. การเลือกสื่อควรพิจารณาให้มีความสัมพันธ์กับเรื่องที่ต้องการให้เด็กๆได้เรียนรู้
เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ และสอดคล้องกับเนื้อหาอย่างครบถ้วน
2. การนำสื่อไปใช้ในกิจกรรมหรือประสบการณ์ให้เด็ก
ต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นก่อนนำสื่อไปใช้ให้เกิดประสิทธิผล
ควรมีการทดลองใช้และติดตามผลการใช้สื่อนั้นๆ ก่อน
3. สื่อควรสร้างเสริมความคิดและให้แนวทางในการแก้ปัญหาได้หลายๆ
ด้าน
4. กรณีผลิตสื่อขึ้นใช้เอง
ควรพิจารณาเทคนิคการผลิตสื่อนั้นๆ ว่า ดี
หรือมีความเหมาะสมในการใช้งานมากน้อยแค่ไหน เช่น สี ขนาด สัดส่วน
ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
5. สื่อต้องเหมาะสมกับวัย เพศ
ระดับความรู้ ประสบการณ์เดิมของผู้รับ
6. การสร้างสื่อรวมทั้งการใช้สื่อ
ควรยึดหลักการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ อันได้แก่ ความต้องการทางกาย
ความต้องการความปลอดภัย ความต้องการการยอมรับของกลุ่ม ความต้องการการยกย่องนับถือ
ความต้องการความสำเร็จในชีวิต
7. ควรเลือกใช้สื่อชนิดที่เข้าถึงและเป็นที่นิยมของกลุ่มเป้าหมาย
รวมถึงภาษาที่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ง่าย น่าสนใจ และใช้สื่ออย่างคุ้มค่า
8. สื่อนั้นๆ
ผู้รับควรรับรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าให้มากที่สุด
9. สื่อที่ใช้ควรเป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน
ทันต่อเหตุการณ์และความก้าว่หน้า รวดเร็วตรงตามเป้าหมาย
10. ควรนำศิลปวัฒนธรรม ประเพณี
กิจกรรม บุคลากร องค์กร หรือทรัพยากรต่างๆ ในท้องถิ่น มาใช้เป็นสื่อให้มากที่สุด
หลักการใช้สื่อ
วัสดุ - อุปกรณ์และของเล่นประกอบการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย
1. สื่อนั้น
ควรส่งเสริมพัฒนาการเด็กในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสติปัญญา,ร่างกาย, สังคม,
อารมณ์และจิตใจ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม
2. เน้นสื่อที่เป็นจริง
หรือเป็นสื่อที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ
3. ควรเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเด็ก
สะดุดตา เร้าความสนใจของเด็กได้ดี
4. มีความปลอดภัย
ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก
5. สื่อนั้นๆ
ต้องเหมาะสมตามวัยหรือพัฒนาการเด็ก
6. มีขนาดเหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย
น้ำหนักเบา เด็กสามารถหยิบจับ เคลื่อนย้ายด้วยตนเองได้สะดวก
ลักษณะของสื่อและวัสดุอุปกรณ์ที่ดี
1. สื่อและวัสดุอุปกรณ์ต้องเหมาะกับวัยของเด็ก
2. มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย
ไม่แหลมคม
3. ทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษ
และไม่ติดไฟง่าย ที่สำคัญไม่ควรทำด้วยแก้ว เพราะอาจแตกและเป็นอันตรายต่อเด็กได้
4. มีการออกแบบที่ดี
มีวิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยาก
5. มีสีสันสวยงาม
ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี
6. เร้าใจเด็ก ชวนให้คิดคำนึง
สร้างจินตนาการ ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา
7. หาซื้อได้ง่ายด้วยราคาประหยัด
หรือสามารถผลิตขึ้นใช้เองได้
8. ผ่านการทดสอบจากผู้ผลิต
และได้มีการทดลองใช้ก่อนนำไปใช้จริง
การจัดเตรียมวัสดุเพื่อการผลิตสื่อการเรียนการสอน
สื่อการเรียนการสอน
เป็นสิ่งที่ครูสามารถจัดทำหรือผลิตขึ้นเองได้ โดยจัดหาวัสดุจากสิ่งต่างๆ
ที่มีอยู่รอบตัว อาจเป็นวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น
หรือวัสดุเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี การจัดแบ่งสื่อ
สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1.วัสดุท้องถิ่น
2.วัสดุเหลือใช้
3.วัสดุทำขึ้นเอง
4.วัสดุซื้อมาราคาถูก
ของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย
การเล่น
เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กที่ขาดมิได้ อาจกล่าวได้ว่า การเล่นเป็นการทำงานของเด็ก
โดยธรรมชาติแล้ว เด็กจะชอบเล่นเนื่องจาก ทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
ได้ผ่อนคลายความเครียด ประการสำคัญ เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการเล่น
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก
ได้รับการพัฒนาส่งเสริมพัฒนาการได้สูงสุด
จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากของเล่น
ความหมายของ
ของเล่น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2525 กล่าวว่า ของเล่นหมายถึง ของสำหรับเด็กเล่นเพื่อให้สนุกหรือเพลิดเพลิน
ลัดดาวัลย์ กัณหสุวรรณ
อธิบายคำว่า ของเล่น หมายถึง วัตถุใดๆ
ที่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่ผู้เล่น
ฉวีวรรณ จึงเจริญ
ให้ความหมายของคำว่า ของเล่น ว่าหมายถึง
สิ่งของหรือวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาให้เด็กเล่น บางทีก็เรียกว่า เครื่องเล่น
อาจรวมถึงอุปกรณ์ดนตรี อุปกรณ์พลานามัยและอื่นๆ ซึ่งของเล่น จะเป็นสื่อให้รู้จัก
ได้ใช้ ได้จัดกระทำ หรือประดิษฐ์สร้างสรรค์ตามจินตนาการของเด็ก
ณัฐหทัย วาระทรัพย์
อธิบายความหมายของคำว่า ของเล่น หมายถึง วัตถุใดๆ ที่นำมาให้เด็กเล่น
แล้วสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับผู้เล่น เป็นสื่อนำเด็กไปสู่กระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก
จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า
ของเล่นเป็นสื่อที่เด็กใช้ประกอบในการแสดงออกทางพฤติกรรมที่บางครั้งสามารถอธิบายความคิด
ความคับข้องใจของเด็ก ทำให้ผู้ใหญ่หรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเข้าใจ
และจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก
ประโยชน์ของของเล่น
การจัดหาของเล่นให้แก่เด็ก
ควรเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ รวมทั้งให้โอกาสเด็กได้เล่น
ซึ่งเด็กจะได้รับประโยชน์ดังนี้
1. ของเล่นช่วยให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสด้านต่างๆ
ได้อย่างเต็มที่และส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
2. ของเล่นช่วยกระตุ้นความสนใจ
ความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก
3. ของเล่นช่วยตอบสนองความต้องการของเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ
4. ของเล่นให้โอกาสเด็กได้แสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเองอย่างอิสระในการเล่น
5. ของเล่นช่วยสร้างเสริมบุคลิกลักษณะพื้นฐานที่ดีให้แก่เด็ก
และยังช่วยพัฒนาเด็กในการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
อย่างไรก็ดี
ของเล่นสามารถจำแนกประเภทตามคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาเด็กด้านต่างๆ ดังนี้
1. ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทางกายของเด็กปฐมวัย
ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาทางการใช้ประสาทสัมผัส
อันได้แก่ ตา หู จมูกดมกลิ่น ลิ้นชิมรส และกายสัมผัส
ของเล่นประเภทนี้จะให้คุณประโยชน์แก่เด็กในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น
เครื่องแขวนต่างๆ ให้ประโยชน์ด้านการกลอกสายตา ทำให้ประสาทตาว่องไว
ฟุตบอลผ้าที่ใช้ผ้าชนิดหรือสีต่างๆ ช่วยพัฒนาการเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัส การขยำ
ขว้าง ปา ของเล่นตักตวง เล่นน้ำเล่นทราย จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ เป็นต้น
2. ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย
เป็นของเล่นที่เล่นแล้ว ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์ ช่วยให้จิตใจแจ่มใส
เบิกบาน หากเป็นของเล่นที่เด็กเล่นคนเดียว มักมีเสียงและสามารถเคลื่อนไหวได้
ซึ่งเด็กจะสนใจและสามารถเล่นได้นานๆ ยกตัวอย่างเช่น กล่องดนตรี
เครื่องเคาะหรือเขย่าต่างๆ ตุ๊กตาคนหรือสัตว์ หุ่นต่างๆ เป็นต้น
3. ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย
พบว่า เป็นของเล่นที่เด็กเล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การเล่นร่วมกัน
เด็กๆจะเรียนรู้และเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น
การเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ การแบ่งปัน
เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนและจัดประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่เด็ก
ทั้งยังช่วยลดพฤติกรรมการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของเด็กได้อีกด้วย
ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ ได้แก่ บันไดงูและลูกเต๋า เล่นขายของ เตาขนมครก
เชือกชนิดยาว (ที่เด็กๆ สามารถเล่นแกว่งเชือกได้หลายคน) บัตรไพ่ เป็นต้น
4. ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา
เป็นของเล่นที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านคณิตศาสตร์
ด้านสังคมศาสตร์ และอื่นๆ ของเล่นที่ส่งเสริมด้านนี้
เด็กๆจะสนุกสนานกับวิธีเล่นในรูปแบบต่างๆ อาจมีการแข่งขันกันเล่น ฝึกความจำ
การสังเกต รวมทั้งพัฒนาด้านภาษา
ลักษณะของเล่นที่ดี
1. ต้องเหมาะสมกับวัยและความสามารถของเด็ก
2. มีความปลอดภัย แข็งแรง ทนทาน
ปราศจากพิษ ทำความสะอาดได้ง่าย
3. ดึงดูดความสนใจของเด็กและเป็นของเล่นที่เด็กๆทั่วไปนิยมเล่น
4. ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง
อาจใช้วัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุในท้องถิ่น
5. ช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสและการรับรู้ของผู้เล่นได้เหมาะสมตามวัย
6. กระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
7. ของเล่นที่ดีควรพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวในส่วนต่างๆ
ของร่างกาย ตั้งแต่ระดับหยาบ จนถึงการเคลื่อนไหวที่ละเอียดเพิ่มขึ้นตามวัย เช่น
ต่อบล็อก ลากจูงหรือเข็นรถ ขี่จักรยาน เล่นกีฬา เล่นเครื่องดนตรี เป็นต้น
ของเล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก ที่ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง พ่อแม่ ครู
และผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ต้องจัดหาของเล่นที่ดี มีคุณภาพ เหมาะสมตามวัย
เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย
การจัดประสบการณ์ให้แก่เด็ก
มีวิธีการมากมายที่ครูควรจัดให้
ซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ที่ต้องการ
ไม่มีวิธีการจัดประสบการณ์วิธีใดดีที่สุด แต่ละวิธีจะมีข้อดีและข้อเสีย
ซึ่งการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสม ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการด้วยกัน
1. การจัดประสบการณ์แบบปฏิบัติการหรือทดลอง การจัดประสบการณ์วิธีนี้ เด็กจะเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง
โดยครูจะเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำช่วยเหลือ
เด็กทุกคนจะมีโอกาสได้เรียนรูจากการปฏิบัติจริง ได้จัดกระทำกับวัสดุอุปกรณ์
และศึกษาด้วยตนเอง เช่น การทดลองการลอยและจม การเกิดรุ้งกินน้ำ การปลูกถั่วงอก
การผสมสี เป็นต้น
2. การจัดประสบการณ์โดยการเล่านิทาน จะเป็นการนำเรื่องราวของนิทานมาเล่าสู่กันฟัง
เด็กจะได้รับความสนุกสนานจากนิทาน และยังสามารถสอดแทรกความคิด
คุณธรรมที่ดีงามให้แก่เด็ก ซึ่งจะเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติตามที่ถูกที่ควร
ในการดำรงชีวิตในสังคม
3. การจัดประสบการณ์แบบการแสดงบทบาทสมมุติ
วิธีนี้จะเป็นการนำการแสดงบทบาทสมมุติมาใช้เป็นเครื่องมือและวิธีการในการสอนของครู
เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจได้ลึกซึ้ง ซึ่งจะเป็นการสร้างสถานการณ์หรือสมมุติ
โดยให้เด็กแสดงออกมาตามที่คิดและจินตนาการ หลังจากนั้นจะนำเอาการแสดงออก
ทั้งที่เป็นความรู้และพฤติกรรมมาพูดคุยอภิปรายกัน เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ
ธนาคาร ร้านเสริมสวย ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น
4. การจัดประสบการณ์แบบสาธิต
ครูจะเป็นผู้ทำให้ดู ทำให้เห็น และมีการชี้แนะให้ทำตาม เช่น
การจัดประสบการณ์เรื่อง การทำแผล การล้างผักหรือผลไม้ เป็นต้น
5. การจัดประสบการณ์โดยใช้เกม การจัดประสบการณ์ในลักษณะนี้ เด็กๆ
จะได้รับความสนุกสนาน แต่จะมีกฏเกณฑ์ กติกา เข้ามา
อาจเป็นเกมที่เงียบหรือเกมที่ต้องใช้ความว่องไวในการเล่น การเล่นอาจเล่นเป็นกลุ่ม
เล่นสองคน เล่นคนเดียว เกมการเล่นนี้ จะกระตุ้นการทำงานของสมองหรือร่างกาย
หรืออาจฝึกทักษะบางส่วนของร่างกายและจิตใจเป็นพิเศษได้
6. การจัดประสบการณ์แบบสนทนาอภิปราย การจัดประสบการณ์วิธีนี้
เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างครูกับเด็ก หรือเด็กกับเด็กกันเองก็ได้
โดยมีครูเป็นผู้ประสานงาน แต่มีสิ่งที่ครูพึงระมัดระวังคือ
ไม่ตอบปัญหาให้เด็กก่อนที่เด็กจะคิดตอบปัญหาด้วยตัวของเขาเอง
ครูควรจะเป็นเพียงผู้แนะนำให้เด็กคิดไปตามลำดับ จนถึงจุหมายปลายทางที่ต้องการ
นั่นคือ คำตอบ วิธีการนี้จะเป็นวิธีการที่ทำให้เด็กรู้จักคิดเป็น
7. การจัดประสบการณ์แบบศึกษานอกสถานที่
เป็นวิธีการจัดประสบการณ์ที่ครู พาเด็กๆไปศึกษาสภาพความเป็นจริง
อาจเป็นนอกห้องเรียน รอบๆ บริเวณโรงเรียน หรือนอกโรงเรียน
ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ตรงที่เด็กจะได้รับเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ
ในธรรมชาติให้กับเด็ก
8. การจัดประสบการณ์แบบเชิญวิทยากร
เป็นการจัดประสบการณ์โดยการเชิญบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ
ซึ่งอาจเป็นผู้ปกครองของเด็ก
มาพูดคุยกับเด็กหรืออาจมาร่วมกิจกรรมกับเด็กในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก
อาทิ แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร พ่อค้าแม่ค้า ชาวนา บุรุษไปรษณีย์ เป็นต้น
นอกจากนี้อาจเป็นบุคคลในอาชีพต่างๆ ที่เด็กรู้จักคุ้นเคย
ทั้งนี้หัวข้อเรื่องที่วิทยากรจะมาพูดคุย ควรเป็นเรื่องที่เด็กๆ สนใจ
อย่างไรก็ดี
ไม่มีวิธีการจัดประสบการณ์วิธีใดเป็นวิธีที่ดีที่สุด การจัดประสบการณ์ที่ดี
จะเป็นการจัดประสบการณ์ที่จัดแล้วเหมาะสมกับวัย โอกาส และเป็นสิ่งที่เด็กสนใจ
นั่นคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น